วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554


คือเธอ..... คือผู้หญิง
อาจารย์พีรพัฒน์ ถวิลรัตน์
พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามภาพลักษณ์ของพระองค์... ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง
(ปฐมกาล 1:27)

ทุกคนบนโลกใบนี้ต่างทราบดีว่า มนุษย์แบ่งเป็นเพศชายและเพศหญิง ทั้งสองเพศมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดหลายประการ เช่น รูปร่างหน้าตา เสียง อารมณ์ความรู้สึก วิธีการสื่อสาร ฯลฯ แม้เกือบทุกคนจะทราบดีว่า ผู้ชายแตกต่างจากผู้หญิง แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้ว่า ผู้ชายและผู้หญิงแตกต่างกันอย่างไร ความไม่รู้นี่เองที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และสัมพันธภาพที่ไม่ราบรื่นระหว่างบุคคล
จิตวิทยาเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่พยายามทำความเข้าใจถึงบุคลิกภาพ สภาพจิตใจ อารมณ์และพัฒนาการของมนุษย์ เพื่อจะได้อธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการเรียนรู้ในอดีต และแนวโน้ม ที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต จิตวิทยาจึงเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ที่จะช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะธรรมชาติของความเป็นผู้หญิง
นักจิตวิทยาได้พยายามศึกษาทำความเข้าใจผู้หญิงในแง่มุมต่างๆ เช่น ด้านพัฒนาการของชีวิต (Baker & Ehrhard, 1978; Hyde & DeLamater, 1999; Kagan-Krieger, 1999) ด้านบุคลิกภาพ (Basow, 1986; Belle, 1984; Busfield, 1996; Etaugh, 1993) ด้านการสื่อสาร (Carli, 1999; Deutsch, LeBaron & Fryer, 1987; Hall, 1984; Word, 1994) ด้านสัมพันธภาพ (Chasteen, 1994; Guilbert, Vacc & Pasley, 2000; Rose, 1997) ด้านการทำงาน (Betz & Fitzgerald, 1987; Cleveland, Stockdale & Murphy, 2000; Juntunen, 1996) เป็นต้น
นักจิตวิทยาศึกษาทำความเข้าใจผู้หญิง ในแง่มุมต่างๆ ที่หลากหลาย ก็เพื่อจะช่วยให้ผู้หญิงและผู้ชายมีความเข้าใจในธรรมชาติความเป็นหญิง รวมถึงเห็นแนวทางปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ในมิติของความเป็นบุคคล กว่าที่คน ๆ หนึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ผู้หญิงจะต้องผ่านกระบวนการอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ กระบวนการดังกล่าวย่อมหล่อหลอมบุคลิกภาพ อุปนิสัยให้เป็นเธอดังเช่นทุกวันนี้
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในกระบวนการอบรมเลี้ยงดูมีความแตกต่างกันหรือไม่ ระหว่างเด็กชายกับเด็กหญิง? คำตอบคือ มีความแตกต่างกัน จากงานวิจัยของ Jeffrey Rubin และคณะ (1974) ที่ทำการสัมภาษณ์คู่สมรส ที่เพิ่งมีบุตรภายใน 24 ชั่วโมง จำนวน 30 คู่ เด็กแรกคลอดเป็นชาย 15 คน เป็นหญิง 15 คน จากการสัมภาษณ์พบว่า ภาพในความคิด (stereotype)[1] ของพ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการอบรมเลี้ยงดู ไม่ว่าจะ เป็น การแต่งกาย ของเล่น การวางตัว มีงานวิจัยสนับสนุนตามมาด้วยว่า พฤติกรรมของบุคคลในวัยผู้ใหญ่เป็นผลมาจากภาพในความคิดของพ่อแม่ (Will, Self & Datan,1976) นอก จากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นพบว่า ภาพในความคิดของพ่อแม่ส่งผลต่อการอบรมเลี้ยงดู อย่างยิ่ง เช่น พ่อแม่อยากให้ลูกชายเข้มแข็ง ห้าวหาญ และอยากให้ลูกสาวอ่อนโยน เรียบร้อย พูดจาสุภาพ ของเล่นที่ลูกชายมักได้รับคือ รถยนต์ ปืน อุปกรณ์กีฬา และถ้าลูกชายหันไปเล่นของเล่น ที่เป็นของผู้หญิง จะถูกมองในแง่ไม่ดีทันที ขณะที่ลูกสาวมักได้เล่นเป็นตุ๊กตา อุปกรณ์ทำอาหาร เครื่องเล่นดนตรี (Geer & Shields, 1996; Raag & Rackliff, 1998)
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งคือ ความแตกต่างด้านพัฒนาการของร่างกาย เริ่มตั้งแต่วัยเด็กตอนปลาย (อายุประมาณ 10 – 12 ปี) เด็กชายและเด็กหญิงจะมีพฤติกรรมและความสนใจที่แตกต่างกัน เด็กหญิงจะโตกว่าเด็กชาย ในตอนปลายของวัยนี้ จากนั้น เมื่อเริ่มก้าวเข้า สู่วัยรุ่น (อายุประมาณ 13 – 20 ปี) ผู้หญิงจะเริ่มการมีประจำเดือน สรีระเกิดการเปลี่ยนแปลง มีความต้องการและความปรารถนาใหม่ๆ เกิดขึ้น สติปัญญา ความคิดเจริญก้าวหน้า เริ่มรู้จักรับผิดชอบและต้องการเป็นอิสระ มีความเชื่อมั่นมากขึ้น
เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นจนสู่วัยผู้ใหญ่ สิ่งที่ผู้หญิงมักให้ความสนใจและให้ความสำคัญ คือ ความรักและรูปร่างหน้าตา
ความรัก มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง แม้ในปัจจุบันจะมีกลุ่มผู้หญิงบางกลุ่มมองว่า ความรักไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไปแล้ว ถึงกระนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับความรัก ทั้งนี้เพราะความรักเป็นตัวสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ผู้หญิงมีต่อบุคคล ที่เธอให้ความสำคัญและติดต่อสัมพันธ์ด้วย
ในด้านความรัก ผู้หญิงอยากได้รับความ เอาใจใส่ ความเข้าใจ ความนับถือ การอุทิศตน ความมีเหตุผลและความมั่นใจ (เกรย์, 2540) ทั้ง 6 ประการนี้ถือว่าเป็นความต้องการพื้นฐาน ที่ผู้หญิงต้องการจะได้รับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง นี่คือความคาดหวังภายในใจของเธอ ซึ่งมีต่อบุคคลที่เธอติดต่อด้วย โดย เฉพาะจากคนที่เธอรัก นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยพบว่า มิตรภาพมีความสำคัญมากต่อเด็กหญิงและหญิงสาวตลอดชั่วอายุขัย (Kuttler et al., 1999) และรู้สึกว่า มิตรภาพระหว่างเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน เป็นสิ่งที่มีความสุขมากที่สุด เป็นการเติมเต็มให้ กับชีวิตของพวกเธอ (Hite, 1989)
ส่วนเรื่องรูปร่างหน้าตาถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีความสำคัญในชีวิตของผู้หญิง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน บางครั้งเธออาจจะถามเราว่า ฉันดูสวยหรือยัง ฉันดูอ้วนเกินไปหรือเปล่า ชุดนี้สวยมั้ย หรือ ตัดผมทรงนี้เป็นไงบ้าง คำถามต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก แม้เธอจะบอกเราว่า รูปลักษณ์ภายนอกไม่สำคัญเท่ากับจิตใจ แต่หากมีใครลองบอกเธอซิว่า เธอดูอ้วนขึ้นนะ หรือ ผมทรงนี้ ฉันว่าไม่เข้ากับหน้าของเธอเลยนะ เธอจะรู้สึกกังวลขึ้นมาทันที
เมื่อเราคิดจะติดต่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี กับผู้หญิง เราพึงเรียนรู้ถึงวิธีการสื่อสารของผู้หญิง และการสื่อสารที่ดี ที่มีประสิทธิภาพ โดยทั่วไป ผู้หญิงจะแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกผ่านทางคำพูด และกริยาท่าทางได้ดีกว่าผู้ชาย รวมถึงยังมีความสามารถในการสื่อสารด้วยอวัจนภาษาได้ดีพอๆ กับการรับรู้ถึงอวัจนภาษาที่บุคคลอื่นสื่อออกมา (Hall et al., 2000; Mayo & Henley, 1981)
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการสื่อสารด้วย อวัจนภาษา ได้แก่ อาการงอนที่ผู้หญิงมักจะใช้สื่อสารให้บุคคลที่เธอติดต่อด้วยรับรู้ถึงความไม่พอใจ หรือการประสานสายตา (eye contact) เพื่อแสดงออกถึงความสนใจเป็นพิเศษที่มีต่อบุคคลที่เธอสบตาด้วย (Hall et al., 2000) หรือใช้ระยะห่างระหว่างบุคคล เพื่อแสดงออกถึงระดับความสัมพันธ์ ซึ่งผู้หญิงจะ ใช้มากกว่าผู้ชาย (Hall et al., 2000; Jacobson, 1999) เป็นต้น
ในการสื่อสารด้วยคำพูด บ่อยครั้งเหมือนกันที่ผู้หญิงอาจจะใช้คำพูดกับการสื่อความหมายที่ไม่สอดคล้องกัน จากประสบการณ์การทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาของผู้เขียนสังเกตว่า มีบางคำที่ผู้หญิงมักใช้ไม่ตรงตามความหมายของคำ เช่น ไม่มีอะไร แต่น้ำเสียงที่ใช้เฉยชา หรือหงุดหงิด แสดงว่า กำลังมีอะไรบางอย่างในใจ หรือ ขอเวลาแป๊ปเดียว ขณะที่เธอกำลังแต่งตัว แต่งหน้า แสดงว่าขอเวลาให้ฉันสักหน่อยเถอะ ซึ่งอาจจะใช้เวลามากกว่าครึ่งชั่วโมงขึ้นไป หรือ ก็ลองทำดูสิ ถ้าเธอพูดในเวลาที่เพื่อนหรือสามีมาพูดว่าจะทำอะไรบางอย่าง ที่เธอไม่เห็นด้วย แสดงว่า เธอไม่เห็นด้วย ไม่อนุญาต และหากทำคงได้เห็นการตอบโต้บางอย่าง
ด้วยเหตุที่การสื่อสารระหว่างบุคคลของผู้หญิงบางคน อาจจะมีการสื่อความหมายไม่ตรงกับคำพูดหรือการกระทำ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ไม่ว่าจะสื่อสารกับชายหรือหญิงก็ตาม ส่งผลให้เกิดความตึงเครียด หลบเลี่ยงปัญหา เฉไฉออกนอกเรื่อง มีการตำหนิติเตียนต่อกัน และมีผลต่อสุขภาพจิตของบุคคลที่ประสบปัญหา
ดังนั้น การทำความเข้าใจ การยอมรับในสิ่งที่ผู้หญิงเป็น และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล ทั้งชายกับหญิง และหญิงกับหญิง
ทั้งนี้ การสื่อสารที่ดี ที่มีประสิทธิภาพ ควรเป็นการสื่อสารที่แสดงออกจากภาวะใจ ที่สอดคล้องกลมกลืน (Satir, 1988) นั่นคือ ไม่ว่าคำพูด น้ำเสียง การกระทำ และความรู้สึกภายในใจจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น เมื่อเราชมใครว่า วันนี้สวยจัง คำพูด น้ำเสียงและการแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง สอดคล้องกับความรู้สึกชื่นชมภายในใจ
นอกจากนี้ การรับฟังอย่างใส่ใจโดยไม่มีเงื่อนไข หรือท่าทีที่ตัดสินผู้พูดในขณะรับฟัง มี การตอบรับทั้งทางวาจาและท่าทาง เช่น พยักหน้า การสบตา การแสดงความคิดเห็นในเชิงบวก เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี การรับรู้ข้อมูลความแตกต่าง รวมถึงวิธีการติดต่อสื่อสารจะไม่เกิดประโยชน์อันใด ถ้าเราไม่ตระหนักว่า ตัวเราเองมีส่วนสำคัญในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีหรือไม่ดีระหว่างกัน
ไม่ว่า เราจะเป็นชายหรือหญิง ความตระหนักถึงความแตกต่างจะช่วยให้เราเข้าใจ และยอมรับซึ่งกันและกันได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญเหนืออื่นใด บุคคลทุกเพศ ทุกวัย ล้วนต้องการติดต่อสัมพันธ์กับคนที่มีความจริงใจ เป็นมิตร ให้เกียรติ ยอมรับในความเหมือนและความต่างด้วยกันทุกคน
ถ้าเราระลึกอยู่เสมอว่า ผู้หญิงก็คือมนุษย์ ซึ่งเป็นแม่ เป็นพี่น้อง เป็นเพื่อนของเรา เป็นสิ่ง สร้าง เป็นบุตรของพระเจ้า เราจะรู้ตัวว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรกับเธอ ผู้ซึ่งเราก็รู้ว่า นี่คือเธอ.... คือ... ผู้หญิง.



บรรณานุกรม
เกรย์, จอห์น. (2540). ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์. แปลโดย สงกรานต์
จิตสุทธิภากร. กรุงเทพมหานคร: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
สุชา จันทร์เอม. (2542). จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพมหานคร:
สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.
Baker, S., & Ehrhardt, A. (1978). Prenatal androgen, intelligence, and cognitive sex
differences. In R. Friedman (Ed.), Sex differences in behavior. Huntington,
NY: Krieger.
Basow, S. (1986). Sex roe stereotypes: Traditions and alternatives. Monterey, CA:
Brooks/Cole.
Belle, D. (1984). Inequality and mental health: Low income and minority women. In L.
Walker (Ed.), Women and mental health policy. CA: Sage.
Betz, N., & Fitzgerald, L. F. (1987). The career psychology of women. NY:
Academic Press.
Busfield, J. (1996). Men, women, and madness: Understanding gender and mental
disorders. NY: New York University Press.
Carli, L. (1999). Gender, interpersonal power, and social influence. Journal of Social
Issues, 55, 81-99.
Chasteen, A. (1994). “The world around me”: The environment and single women.
Sex Roles, 31, 309-328.
Cleveland, J., Stockdale, M., & Murphy, K. (2000). Women and men in organizations:
Sex and gender issues at work. Mahwah, NJ: Erlbaum.
Deutsch, F., LeBaron, D., & Fryer, M. (1987). What is in a smile? Psycholgy of
Women Quarterly, 11, 341-352.
Etaugh, C. (1993). Psychology of women: Middle and older adulthood. In F.L.
Denmark & M.A. Paludi (Eds.), Psychology of women: A handbook of issues
and theories. Westport, CT: Greenwood Press.
Geer, C., & Shields, S. (1996). Women and emotion: Stereotypes and the double
bind. In J. Chrisler, C. Golden & P. Rozee (Eds.), Lectures on the psychology of
women. NY: McGraw Hill.
Green, S., & Sandos, P. (1983). Perceptions of male and female initiators of
relationships. Sex Roles, 9, 849-852.
Guilbert, D., Vacc, N., & Pasley, K. (2000). The relationship of gender role beliefs,
negativity, distancing, and marital instability. Family Journal Counseling and
Therapy for Couples and Families, 8, 124-132.
Hall, J. (1984). Nonverbal sex differences. Baltimore: Johns Hopkins University
Press.
Hall, J., Carter, J., & Horgan, T. (2000). Gender differences in nonverbal
communication of emotion. In A. Fischer et al. (Eds.), Gender and emotion:
Social psychological perspectives. NY: Cambridge University Press.
Hite, S. (1989). Women and love. NY: St. Martin’s Press.
Hyde, J. S., & DeLamater, J. (1999). Understanding human sexuality. NY: McGraw Hill.
Jacobson, R. (1999). Personal space within two interaction conditions as a function of
confederate age and gender differences. Dissertation Abstracts International, 59,
(7-B), 3743.
Juntunen, C. (1996). Relationship between a feminist approach to career counseling
and career self-efficacy beliefs. Journal of Employment Counseling, 33, 130-143.
Kagen – Krieger, S. (1999). The struggle to understand oneself as a woman: Stress,
coping and the psychological development of women with Turner Syndrome.
Dissertation Abstracts International, 59 (12-A), 4368.
Kuttler, A., LaGreca, A., & Prinstein, M. (1999). Friendship qualities and social - emotional
Functioning of adolescents with close, cross-sex friendships. Journal of Research
on Adolescence, 9, 339-366.
Mayo, C., & Henley, N. (Eds.). (1981). Gender and nonverbal behavior. NY: HarperCollins.
Paulidi, M. (2002). The psychology of women. 2nd ed. New Jersey: Prentice Hall.
Raag, T., & Rackliff, C. (1998). Preschoolers’ awareness of social expectations of
gender: Relationships to toy choices. Sex Roles, 38, 685-700.
Rose, S. (1997). Friendships and women. In J. Chrisler, C. Golden, & P. Rozee (Eds.),
Lectures on the psychology of women. NY: McGraw-Hill.
Rubin, J., Provenzano, F., & Luria, Z. (1974). The eye of the beholder: Parents’ views
on sex of newborns. American Journal of Orthopsychiatry, 44, 512-519.
Satir, V. (1988). The new peoplemaking. Palo Alto, CA: Science and Behavior Books.
Will, J., Self, P., & Datan, N. (1976). Maternal behavior and perceived sex of infant.
American Journal of Orthopsychiatry, 46, 135-139.
Wood, J. (1994). Gendered lives: Communication, gender, and culture. Belmont,
CA: Wadsworth.



! นักจิตวิทยาการปรึกษา อาจารย์พิเศษด้านจิตวิทยาในสถาบันอุดมศึกษา นักวิจัย ศูนย์วิจัยค้นคว้าศาสนาและวัฒนธรรม วิทยาลัยแสงธรรม
[1]Stereotype หมายถึง สมมติฐานที่บุคคลมีต่อผู้อื่น โดยไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงที่เชื่อถือได้ แต่เป็นกระบวนการจัดแจงข้อมูลทางสังคม ที่บุคคลมีภาพลักษณ์คร่าวๆ เพื่อใช้ในการคิดและทำความเข้าใจ โดยแบ่งคนเป็นกลุ่มๆ เพื่อช่วยให้เราสามารถอนุมานเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะ รวมถึงพฤติกรรมของคนเหล่านั้นได้